วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

เจียงหนานแสนงาม


ชื่อหนังสือ : เจียงหนานแสนงาม
เลขเรียกหนังสือ : 915.1113604 ท622จ
สาระสังเขป : “เจียงหนานแสนงาม” เป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี คราเสด็จเยือนเมืองทั้งสอง รูปเล่มสวยงามน่าอ่านน่าชม พระองค์ท่านทรงถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านงานวรรณศิลป์ ทั้งร้อยแก้วและบทกวี ในหลากหลายลีลาและสาระที่ทรงพบเห็น ได้ทรงจับประเด็นมานำเสนอให้ผู้อ่านได้รับความรู้อย่างแยบยลจนน่าชื่นชมในพระอัจฉริยภาพเป็นอย่างยิ่ง "ยอดหมู่บ้านกลางน้ำแห่ง เจียงหนาน" ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลเจียงซู ในเขตเมืองคุนซาน เสมือนหนึ่งดอกบัวลอยอยู่บนผิวน้ำ มีลำคลองสองสายไหลจากตะวันตกถึงตะวันออกและทิศเหนือถึงทิศใต้ ถนนหนทางและบ้านเรือนพอเหมาะพอเจาะ สะท้อนภาพเขียนและกลอนของจีนในสมัยโบราณที่ เขียนไว้ว่า “สะพานเล็ก ลำคลองและบ้านเรือน แม้ดูเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยลีลา”

เย็นสบายชายน้ำ


ชื่อหนังสือ : เย็นสบายชายน้ำ
เลขเรียกหนังสือ : 915.1 ท622ย
สาระสังเขป : “เย็นสบายชายน้ำ” เป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงถ่ายทอดเรื่องราวการเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐ ประชาชนจีนอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 14-27 สิงหาคม 2539 โดยมีจุดสำคัญอยู่ที่การประทับเรือ พระที่นั่งล่องไปตามแม่น้ำแยงซีเกียง หรือฉางเจียง ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศจีนและของทวีปเอเชีย และการทอดพระเนตรโครงการซานเสียซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทรงพระราชนิพนธ์ในคำนำว่า นอกจากผู้อ่านจะได้รับความรู้ทางประวัติศาสตร์ วรรณคดีและศิลปวัฒนธรรมของสถานที่ต่างๆ ที่เสด็จฯ ทอดพระเนตรแล้ว ยังได้ร่วมชื่นชมทัศนียภาพที่สวยงามทางธรรมชาติของแม่น้ำฉางเจียง โตรกเขาซานเสีย และเทือกเขาหวงซาน เป็นต้น สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาด ใหญ่อย่างเขื่อนซานเสีย ก็ทรงบันทึกข้อมูลทางวิชาการต่างๆ ผลกระทบ ตลอดจนข้อดีข้อเสียของ โครงการดังกล่าวด้วย

ใต้เมฆที่เมฆใต้


ชื่อหนังสือ : ใต้เมฆที่เมฆใต้
เลขเรียกหนังสือ : 915.14 ท623ต
สาระสังเขป : “ใต้เมฆที่เมฆใต้” พระราชนิพนธ์ลำดับที่ 31 ในชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เป็นบันทึกการเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกครั้งหนึ่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม 2538 ซึ่งเป็นปีของการเฉลิมฉลอง 20 ปี ความสัมพันธ์ไทย–จีน ด้วย กำหนดการส่วนใหญ่ของการเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนในครั้งนี้อยู่ที่การเสด็จฯ ทอดพระเนตรสถานที่น่าสนใจต่างๆ ในเขตจีนตอนใต้อันได้แก่นครคุนหมิง เมืองเชียงรุ่ง เมืองสิบสองปันนา ในเขตมณฑลยูนนาน อาทิพิพิธภัณฑ์มณฑลยูนนานที่รวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในยูนนาน นิทรรศการเกี่ยวกับอาณาจักรโบราณน่านเจ้า (หนานเจา) ที่พิพิธภัณฑ์เขตปกครองตนเองชนชาติไป๋ต้าหลี่ และสวนพฤกศาสตร์เขตร้อนสิบสองปันนา ทัศนียภาพของแม่น้ำล้านช้างหรือแม่น้ำโขง สถาบันพฤกษศาสตร์นครคุนหมิง และสถาบันชนชาติมณฑลยูนนาน เป็นต้น

คืนถิ่นจีนใหญ่


ชื่อหนังสือ : คืนถิ่นจีนใหญ่
เลขเรียกหนังสือ : 915.1 ท622ค
สาระสังเขป : "คืนถิ่นจีนใหญ่" พระราชนิพนธ์ลำดับที่ 41 ในชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนและฮ่องกง ระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2540 ครั้งนี้นอกจากจะเสด็จฯ เยือนสถานที่สำคัญในมณฑลกวางตุ้งแล้วยังได้เสด็จฯ ไปทรงร่วมพิธีส่งมอบฮ่องกงคืนแก่จีน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 อันถือเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของโลกด้วย

หวงเหอ อู่อารยธรรม


ชื่อหนังสือ : หวงเหอ อู่อารยธรรม
เลขเรียกหนังสือ :
สาระสังเขป : "หวงเหออู่อารยธรรม" พระราชนิพนธ์ลำดับที่ 46 ในชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบันทึกไว้เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 7 มีนาคม 2543 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2543 ครั้งนี้ทรงเล่าถึงสถานที่ต่างๆ ที่น่าสนใจมากมายเช่นเดิม อาทิ ถ้ำทางพุทธศาสนา พิพิธภัณฑ์ขงจื่อ เรือนจำโบราณ สุสานกวนอู วัดเซ่าหลิน ศาลเจ้าเปาบุ้นจิ้น ป่าจารึก ฯลฯ ซึ่งได้ทรงบันทึกไว้แล้วเป็นจดหมายในพระราชนิพนธ์เล่มนี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้ท่องโลกกว้าง แสวงหาปัญญาร่วมกัน

มุ่งไกลในรอยทราย


ชื่อหนังสือ : มุ่งไกลในรอยทราย
เลขเรียกหนังสือ :915.104 ท622ม
สาระสังเขป : “มุ่งไกลในรอยทราย” พระราชนิพนธ์ลำดับที่ 11 ในชุดการเสด็จพระราชดำเนินเยือนนานาประเทศอย่างเป็นทางการ ทรงพระราชนิพนธ์เนื่องในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนี้ได้เสด็จพระราชดำเนินตามเส้นทางสายแพรไหม (Silk Road) ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าระหว่างประเทศในสมัยก่อนที่ดำเนินการโดยกองคาราวาน เชื่อมการติดต่อค้าขายระหว่างจีนกับแคว้นต่างๆ ในเอเซียและยุโรป เส้นทางสายแพรไหมทางบก เป็นเส้นทางสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจในสมัยโบราณ อีกทั้งยังเป็นเหตุให้จีนและแคว้นต่างๆ ทางตะวันตกของจีนได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เส้นทางสายไหมยังเป็นมนต์เสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาเยี่ยมชมอยู่เสมอ หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าต่อการศึกษาค้นคว้าและการท่องเที่ยว ภาพประกอบที่สวยงามและภาพฝีพระหัตถ์ ภาพการ์ตูนที่ทรงสอดแทรกไว้ช่วยเพิ่มอรรถรสให้หนังสือ เล่มนี้น่าอ่านยิ่งขี้น


เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล


ชื่อหนังสือ : เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล
เลขเรียกหนังสือ : 915.104 ท622ย
สาระสังขป : “เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล” พระราชนิพนธ์ลำดับที่ 49 ในพระราชนิพนธ์ชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ โดยเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 14 - 23 ต.ค. ปี 2545 ครั้งนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนกรุงปักกิ่งและเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งดินแดนแถบนี้คือถิ่นฐานบ้านเกิดของชาวจีนที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ดังนั้นจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวไทย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงบันทึกเรื่องราวและสิ่งที่ทอดพระเนตรเห็นโดยละเอียด ซึ่งผู้อ่านจะได้เห็นภาพชีวิต ความเป็นอยู่ สังคมและเรียนรู้วัฒนธรรมจีนแถบนี้อย่างชัดเจน โดยทรงเรียบเรียงเป็นวันๆ นับตั้งแต่วันแรกที่เสด็จพระราชดำเนินจนถึงวันสุดท้าย และยังจะได้เห็นภาพความสัมพันธ์ไทย-จีนอย่างเหนียวแน่นอีกด้วย



ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย


ชื่อหนังสือ : ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย
เลขเรียกหนังสือ : 915.104 ท622ต
สาระสังเขป : "ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย" พระราชนิพนธ์ลำดับที่ 48 ตอนเสด็จฯ เยือนต่างประเทศในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื้อหาประกอบด้วยเรื่องราวที่ท่านทรงบันทึกไว้เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 14 -27 สิงหาคม 2544 โดยเสด็จพระราชดำเนินแหล่งอารยธรรมและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของสถานที่ต่างๆ มากมาย เช่น ที่มณฑลหนิงเซี่ย ทอดพระเนตรแหล่งโบราณคดีกำแพงเมืองจีนสมัยราชวงศ์หมิง เนินทรายยักษ์ซาปอติ่งที่ได้ฉายา "เสียงระฆังบนทรายทอง" ที่มณฑลชิงไห่ มีภูเขาสูงอันเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสำคัญ 3 สาย แยงซีเกียง ฮวงโห และแม่น้ำโขง ทอดพระเนตรคัมภีร์ตันจูร์เขียนด้วยทองอายุกว่า 400 ปีที่วัดกุมบุม และเขตปกครองตนเองทิเบต ดินแดนแห่ง "หลังคาโลก" ทอดพระเนตรพระราชวังโปตาลา เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอีกมากมายในหนังสือเล่มนี้